วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

นวัตกรรมโรคหลอดเลือดในสมองแตก



นวัตกรรม PPS (Position Pillow Support)







ที่มาของโครงการ
หน่วยงานให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต พิการแขนขา
ช่วยเหลือตนเองได้น้อย จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู และเน้นให้ช่วยเหลือตัว
เองให้มากที่สุด โดยเฉพาะการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน
รับประทานอาหาร ซึ่งผู้ป่วยบางรายมีปัญหาการทรงตัวและกลืนลำบาก
หากนั่งทรงตัวไม่ดี จะส่งผลให้สำลักได้ง่าย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
ปอดอักเสบ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หน่วยงานยังขาดอุปกรณ์ที่เหมาะสม
ในการจัดท่าให้ผู้ป่วย จึงประดิษฐ์นวัตกรรมนี้ขึ้นเพื่อใช้สำหรับจัดท่าผู้ป่วย
ให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ สามารถนั่งทรงตัวได้นาน จนเสร็จสิ้นกิจกรรม
ต่าง ๆ ส่งผลให้การฟื้นฟูเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน
และผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ

วัตถุประสงค์
จัดท่าที่เหมาะสมด้วยอุปกรณ์ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต
ขั้นตอนการดำ เนินงาน
วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้
ฟองน้ำชนิดอัดแน่น หนังเทียม กรรไกร จักรเย็บผ้า ด้าย และตีนตุ๊กแก
วิธีการประดิษฐ์

1. ตัดฟองนํ้าชนิดอัดแน่น และหนังเทียม ตามขนาดที่ต้องการ (ภาพที่ 1)
2. เย็บหนังเทียมหุ้มฟองนํ้าให้เรียบร้อย (ภาพที่ 2) 
3. ติดตีนตุ๊กแกเพื่อเชื่อมต่อเบาะแต่ละชิ้น (ภาพที่ 3)

วิธีการใช้งาน และการพัฒนาต่อเนื่อง


ใช้ประคองและจัดท่าผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีกที่ นั่งทรงตัวยังไม่มั่นคงในขณะที่นั่งรับประทานอาหาร นั่งห้อยขาข้างเตียง และ นั่งทํากิจกรรมต่างๆ


http://www.si.mahidol.ac.th


วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โรคหลอดเลือดสมองแตก

โรคหลอดเลือดสมองตีบ
โรคไต
โรคเบาหวาน
โรคปอดอุดกลั้น
โรคมะเร็งลำไส้







กรุณาคลิกดูวิดีทัศน์ด้านล่าง




ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองแตก


        เส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง  (Cerebrovascular Accident หรือ Stroke)




เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดและออกซิเจน เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก เลือดจึงไม่สามารถไหลเวียนไปยังสมองได้ เมื่อเซลล์สมองถูกทำลายจนเซลล์ตาย จึงไม่สามารถควบคุมอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที อาจลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้มากขึ้น
        อาการของเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน


ลักษณะและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไปตามสภาพร่างกาย และขึ้นอยู่กับบริเวณที่เซลล์สมองได้รับความเสียหายด้วย อาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด หรืออาจใช้เวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ หรือนำตัวส่งแพทย์เมื่อมีอาการที่เป็นสัญญาณของเส้นเลือดในสมองแตก ดังนี้
-          รู้สึกชาตามตัว หรืออวัยวะ แขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
-          ใบหน้าบิดเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก พูดลำบาก พูดติดขัด สื่อสารไม่ได้ สับสนมึนงง และไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
-          เสียสมดุลการทรงตัวและการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินลำบาก เดินเซ ขยับแขนขาลำบาก
-          มีปัญหาในการมองเห็น สายตาพร่ามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน ตาบอดข้างเดียวในทันทีทันใด
-          ในบางรายอาจพบอาการปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

สาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
        
       Ischemic Stroke: เส้นเลือดอุดตัน
ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในระบบไหลเวียนโลหิต หรืออาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ไม่ยืดหยุ่น และประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง ออกซิเจนในเลือดจึงไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
-          Embolic Stroke เกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วลิ่มเลือดไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
-          Thrombotic Stroke เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมองและขยายใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง
       
         Hemorrhagic Stroke: เส้นเลือดแตก
เส้นเลือดในสมองแตก หรือฉีกขาด พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด หลอดเลือดจึงปริแตกได้ง่าย ซึ่งเป็นอันตรายมาก เนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างเฉียบพลัน เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน ได้แก่
-          ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง
-          มีไขมันในเลือดสูง เพราะมีไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด กีดขวางการลำเลียงเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย
-          ป่วยด้วยโรคเบาหวาน มีน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย
-          การสูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เพราะนิโคตินและคาร์บอนมอนนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็ง
-          ผู้ป่วยหรือบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติเส้นเลือดในสมองแตก หรือป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
-          ป่วยด้วยภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือมีไขมันอุดตันในผนังหลอดเลือดแดง
-          ป่วยด้วยโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) โรคหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดที่จะไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้
-          การใช้ยาคุมกำเนิด
-          การขาดการออกกำลังกาย
-          อายุมากขึ้น หลอดเลือดจะเสื่อมตามไปด้วย
-          โรคหรือภาวะที่ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ
   

การวินิจฉัยเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
เมื่อผู้ป่วยถูกนำส่งแพทย์ และแพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการของเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน จะตรวจวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
-          ตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพด้านต่าง ๆ เช่น การมองเห็น การพูด การรับความรู้สึก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กำลังของกล้ามเนื้อ อาการชาบริเวณต่าง ๆ และปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
-          ตรวจความดันโลหิต ผู้ป่วยมักมีความดันสูงหากเส้นเลือดในสมองแตก
-          หลังจากนั้น แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อบ่งชี้หาตำแหน่งของสมองและหลอดเลือดที่ผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน ด้วยวิธีการดังนี้
-          ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจหากลไกการแข็งตัวของเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดที่อาจส่งผลให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก
-          ตรวจเอกซเรย์หลอดเลือดสมอง (Angiogram) แพทย์จะฉีดสารย้อมสีเข้าสู่เส้นเลือด จากนั้นจึงฉายภาพเอกซเรย์ส่วนศีรษะเพื่อหาจุดที่เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน
-          ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ใช้รังสีจากเครื่อง CT Scan ฉายไปยังบริเวณศีรษะ แล้วสร้างภาพออกมาด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยลักษณะและตำแหน่งที่เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน
-          ตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) การตรวจคล้ายกับ CT Scan แต่เครื่องจะสร้างภาพจากสนามแม่เหล็กที่ส่งคลื่นไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยในขณะตรวจ และภาพที่ออกมาจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่า CT Scan
-          ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) ด้วยการติดขั้วไฟฟ้าบริเวณหน้าอก แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติผ่านทางจอภาพที่แสดงจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเส้นเลือดอุดตันหรือเส้นเลือดในสมองแตก
-          ตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ (Carotid Ultrasound) เป็นการตรวจการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดบริเวณลำคอที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
-          ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นเทคนิคการใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงสร้างเป็นภาพหัวใจ แพทย์จะศึกษาและวินิจฉัยการทำงานของหัวใจจากภาพนั้น ซึ่งอาจพบความผิดปกติที่เป็นสาเหตุสำคัญของเส้นเลือดอุดตันหรือเส้นเลือดในสมองแตก

การรักษาเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง ว่าเป็นเส้นเลือดในสมองตีบตัน หรือเส้นเลือดในสมองแตก โดยมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
Ischemic Stroke: เส้นเลือดถูกลิ่มเลือดอุดตันในระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้ออกซิเจนในเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองได้ เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ดังนี้
-          ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) เป็นยาที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการแข็งตัวของเลือดจนเกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด
-          ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) ขัดขวางการจับตัวกันของเกล็ดเลือด และการเกาะตัวของเกล็ดเลือดกับผนังหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เช่น แพทย์อาจจ่ายยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันซ้ำอีก
-          ยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytic) ช่วยสลายลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้น และฟื้นฟูให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ตามปกติ ซึ่งพบว่ายานี้จะรักษาได้ผลดีกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รีบมาพบแพทย์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยเกิดเส้นเลือดอุดตันในสมอง แพทย์อาจฉีดยาเข้าสู่สมอง หรืออาจผ่าตัดรักษาในบริเวณที่เกิดเส้นเลือดอุดตันในสมองแทน
Hemorrhagic Stroke: เส้นเลือดในสมองแตก ฉีกขาด หรือได้รับความเสียหาย ทำให้ออกซิเจนในเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ   ในสมองได้   เป้าหมายของการรักษาคือ ควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน ซึ่งสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ภายในเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรืออาจหลายปีให้หลัง ได้แก่
-          มีความยากลำบากในการพูด พูดติดขัด สื่อสารไม่ได้ และกลืนอาหารลำบาก
-          มีความยากลำบากในกระบวนการคิด สับสนมึนงง และไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
-          มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินลำบาก ขยับแขนขาลำบาก แขนขาชา หรือเป็นอัมพาต
แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า หรือมีอาการรุนแรงและเกิดเส้นเลือดในสมองแตกบริเวณที่สำคัญ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น
-          ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างกะทันหัน อาจทำให้เซลล์สมองเกิดความเสียหาย
-          ความดันโลหิตสูง ซึ่งกระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปสู่สมอง ส่งผลกระทบต่อสมองบริเวณที่มีเส้นเลือดแตกให้ยิ่งเกิดความเสียหาย
-          มีไข้สูง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ เป็นต้น
-          เกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา และลิ่มเลือดอาจเคลื่อนตัวไปอุดตันที่ปอดจนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism)
-          เกิดอาการชัก
-          ความดันในสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้สมองบวม
-          ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) จากของเหลวหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่ถูกผลิตออกมามากเกินไป
-          เส้นเลือดสมองบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่มีเส้นเลือดในสมองแตกเกิดการหดเกร็ง (Vasospasm) อาจทำให้สมองตายจากการขาดเลือด
-          ภาวะโคม่า (Coma) ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว ไม่รับรู้ และไม่มีสติ เนื่องจากสมองขาดเลือดและออกซิเจนเป็นเวลานาน
-          อาจเกิดเส้นเลือดในสมองแตกในบริเวณอื่น ๆ เพิ่มอีก

การป้องกันเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก การป้องกันอาการเหล่านี้จึงเกี่ยวเนื่องไปถึงการดูแลระบบไหลเวียนโลหิตและการทำงานของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ เช่น
-          ตรวจความดันโลหิตและควบคุมความดันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสม่ำเสมอ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาควบคุมความดันโลหิต ต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องเป็นประจำตามคำสั่งแพทย์
-          หมั่นตรวจและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน
-          หากป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเข้ารับการรักษา รับประทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
-          ตรวจหาระดับไขมันในเลือด และควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน หรือจำกัดปริมาณ
-          ควบคุมน้ำหนักและรูปร่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
-          รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักและผลไม้
-          รักษาสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
-          ไม่สูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดี ไม่ดื่มมากหรือบ่อยจนเกินไป
-          ในบางกรณี แพทย์อาจจ่ายยาแก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นยาที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด